พฤติกรรม 4 อ. ก่อโรค NCDs โดย นพ. บุญชัย อิศราพิสิษฐ์

โรค NCDs ย่อมาจาก “non-communicable diseases” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ปัจจุบันนี้มีคนไทยป่วยโรค NCDs มากกว่า 20 ล้านคน ตัวอย่างของกลุ่มโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคอ้วน โรคเก๊าต์ โรคมะเร็ง
โรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน และเป็นสาเหตุที่ทำให้ไตของคนไทยเสื่อมมากกว่า 6 ล้านคน โรคกลุ่มนี้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิดกฎธรรมชาติ ถ้าเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้อง โรค NCDs ก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดโรค NCDs ไตของคน 6 ล้านคนก็จะไม่เสื่อม
พฤติกรรมอะไรบ้างที่ทำให้คนไทยป่วยเป็นโรค NCDs
พฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรค NCDs แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มพฤติกรรม สรุปแบบย่อ คือ “พฤติกรรม 4 อ.” ประกอบด้วย อ.อาหาร อ.อารมณ์ อ.ออกกำลังกาย อ.เอนกาย
1. อ.อาหาร อาหารที่จะทำให้ป่วยเป็นโรค NCDs เกิดจากการรับประทานอาหารที่ผิดแผกไปจากที่ธรรมชาติได้ออกแบบอาหารสำหรับร่างกายของคนเราไว้ ปัจจุบันนี้ คนเรารับประทานอาหารตามความอร่อย ตามโฆษณา ตามความสะดวก ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบบการทำงานของร่ายกายที่ธรรมชาติได้ออกแบบไว้ ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นในร่างกาย เป็นต้นเหตุของโรค NCDs การรับประทานอาหารที่ผิดหลักธรรมชาติในยุคปัจจุบันที่ก่อให้เกิดโรค NCDs ประกอบด้วย
- การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป ทำให้ท้องผูก เกิดของเสีคั่งค้างในลำไส้เป็นจำนวนมาก
- การรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์มากเกินไป ทำให้เกิดการเน่าเสียของเนื้อสัตว์ในลำไส้ เกิดของเสียขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกาย
- การรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ทำให้เกิดโรคจากการเสื่อมสภาพของ ตับอ่อน ระบบประสาท หลอดเลือด และอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันอันตรายเป็นส่วนประกอบ ไขมันอันตรายที่สุดคือ ไขมันทรานส์ (Trans Fat) ไม่ใช่คอเลสเตอรอล ไชมันทรานส์ไปทำให้ไขมันทุกชนิดในร่างกายเราผิดปกติ ไปทำให้เกิดไขมันร้ายไปอุดหลอดเลือด พฤติกรรมในการรับประทานไขมันทรานส์ ก็คือการรับประทานอาหารผัด ทอดด้วยน้ำมัน หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ที่เป็นไขมันทรานส์โดยตรงคือ ครีมเทียมและเนยเทียม ไขมันที่เราควรรับประทานเพื่อทำให้เกิดไขมันดีในเลือดเราก็คือ ไขมันที่อยู่ในอาหารตามธรรมชาติที่กินสดๆ หรือทำให้สุกจากการลวกต้มหรือนึ่ง
- การรับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งมากเกินไป การปรุงแต่งในที่นี้ ไม่ใช่แต่งรสด้วยพริกหรือมะนาว ซึ่งไม่เกิดโทษต่อร่างกาย แต่เป็นการปรุงแต่งด้วยการดัดแปลงรูปแบบของอาหารให้ผิดรูปไปจากเดิมหรือรสชาติตามธรรมชาติ การปรุงแต่งด้วยการหมักดอง การปรุงแต่งด้วยของปรุงรสต่างๆ การปรุงแต่งด้วยผงชูรส การปรุงด้วยการทำให้สุกจน เกรียม ไหม้ การปรุงแต่งด้วยสารถนอมอาหารต่างๆ ซึ่งขั้นตอนในการปรุงแต่งทำให้เกิดสารแปลกปลอมที่อันตรายต่อร่างกาย
- การรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่มากไป ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ทำให้เกิดโรคอ้วน ทำให้เกิดโทษหลายประการต่อร่างกาย โรคซึ่งเป็นผลพวงมาจากความอ้วน
- การรับประทานอาหารซ้ำซากจำเจอยู่เป็นประจำ ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารบางอย่างมากจนเกิดอันตราย ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นบางชนิด ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ทำให้สะสมความเป็นพิษจากสารบางอย่างจนร่างกายขับออกไม่ทัน
- การรับประทานผักสดหลากหลายชนิดน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายขาดเอนไซม์ที่จะมาฟื้นฟูร่างกาย ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ขาดกากใยอาหาร ทำให้เกิดของเน่าเสียตกค้างในลำไส้ - การรับประทานอาหารมื้อเย็นเป็นจำนวนมาก ตามหลักการแล้วคนเราควรรับประทานอาหารมื้อเย็นให้น้อยที่สุดหรืองดรับประทานไปเลย เพราะอาหารมื้อเย็นจะทำให้เกิดการสะสมของน้ำตาลในเลือด ทำให้เกิดโรคได้หลายโรค ทำให้เกิดการสะสมไขมันในร่างกายก่อให้เกิดโรคอ้วน ทำให้นอนหลับไม่สนิท เพราะต้องมีภาระในการย่อยอาหารในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ธรรมชาติกำหนดให่เราหลับสนิท เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสฟื้นฟูอวัยวะที่เสื่อมทรมจากการใช้งานมาตลอดช่วงเวลากลางวัน พฤติกรรมการรับประทานอาหารตามที่กล่าวมาข้างต้น ทั้ง 9 ประการเป็นพฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดหลักที่ธรรมชาติได้ออกแบบร่างกายของเรามา ทำให้เกิดโรค NCDs ที่คนไทยและคนทั่วโลกเป็นอยู่ในปัจจุบัน
พฤติกรรมการรับประทานอาหารแบบนี้ มาเกี่ยวโยงกับบภาวะไตเสื่อมจาก 3 สาเหตุ
1. ทำให้เกิดโรค NCDs ขึ้น โรค NCDs เป็นต้นเหตุที่ทำให้ไตเสื่อมโดยตรง
2. ทำให้เกิดโรค NCDs กำเริบรุนแรงขึ้น ทำให้ต้องใช้ยาควบคุมโรค NCDs มากขึ้น ยาที่ใช้ควบคุมโรค NCDs ทำให้ไตเสื่อมมากขึ้น
3. รูปแบบการรับประทานอาหารดังกล่าวทำให้ไตเสื่อมโดยตรง พฤติกรรมการรับประทานอาหารดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะทำให้เกิดโรค NCDs แล้ว ยังมีผลทำให้ไตเสื่อมโดยตรงด้วย เพราะไตก็เป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย ที่ถูกทำร้ายด้วยอาหารดังกล่าว
2. อ. อารมณ์ อารมณ์ที่ก่อโรค NCDs โดยตรงก็คือภาวะอารมณ์เครียดซึ่งอารมณ์เครียดเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เครียดจากการทำงาน เครียดจากเรื่องในครอบครัว เครียดจากเรื่องในสังคม เครียดจากอารมณ์ทุกข์ต่างๆ เช่นอารมณ์ทุกข์ต่างๆ เช่น อารมณ์โกรธ-เกลียด-อิจฉา-อาฆาต-กลัว เมื่อเราตกอยู่ในภาวะอารมณ์เครียด ร่างกายเราจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น ตั้งแต่ระดับเซลล์-ระดับอวัยวะ-ระดับระบบการทำงานของอวัยวะหลายอย่างร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางทำลายทั้งสิ้น ถ้าเกิดต่อเนื่องยาวนาน โรค NCDs ก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น
3. อ. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายทุกวันเป็นยาอายุวัฒนะที่สำคัญมากสำหรับคนเรา แต่ในปัจจุบันนี้ เราขาดการออกกำลังกาย เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตต่างไปจากอดีต ซึ่งอาชีพในอดีตจำเป็นต้องออกกำลังกาย เราจึงถูกบังคับให้ออกกำลังกายโดยตรงจากการทำงาน แต่อาชีพในอดีตจำเป็นต้องออกกำลังกาย เราจึงถูกบังคับให้ออกกำลังกาย แต่อาชีพและการงานบางอย่างในปัจจุบันเราไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายเลย นอกจากนั้นอาชีพส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังมาแย่งเวลาที่เราใช้ในการออกกำลังกายไปด้วย ทำให้เราเกิดโรค NCDs จากการขาดการออกกำลังกาย
การไม่ออกกำลังกายทำให้เกิดโรค NCDs จากสาเหตุดังต่อไปนี้
1. การไม่ออกกำลังกายทำให้เราเกิดโรคอ้วน ปัจจุบันนี้เรารับประทานอาหารแคลอรี่สูงกว่าในอดีต แต่เรากลับออกกำลังกายน้อยลง ทำให้เราอ้วนมากขึ้น เมื่อเกิดโรคอ้วนซึ่งเป็นโรค NCDs ชนิดหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดโรค NCDs อื่นๆ ตามมาอีกหลายโรค ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากโรคอ้วน
2. การไม่ออกกำลังกายทำให้ไขมันในเลือดผิดปกติ ถ้าเราไม่ออกกำลังกายจะก่อให้เกิดภาวะไขมันในเลือดผิดปกติได้ ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) จะสูง คอเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL-C) จะสูง คอเลสเตอรอล (HDL-C) ตัวดีจะต่ำ ซึ่งก็คือภาวะโรค NCDs โดยตรง
3. การไม่ออกำลังกายทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง การไม่ออกกำลังกายทำให้หลอดเลือดและหัวใจไม่แข็งแรง เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งก็คือโรค NCDs โดยตรง นอกจากการไม่ออกกำลังกายจะก่อโรค NCDs ซึ่งมีผลต่อโรคไตเสื่อมโดยตรง การไม่ออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายเราสูญเสียความสามารถในการขับของเสียออกจากร่างกายในระบบอื่นๆ อีกหลายระบบตามมา ถ้าเราออกกำลังกายระบบขับถ่ายของเสียจะทำงานสมบูรณ์แบบทั้งการขับถ่ายอุจจาระก็จะปกติ ท้องไม่ผูก การขับของเสียทางเหงื่อจะเกิดขึ้น การหอบหายใจลึกขณะออกกำลังกายจะขับของเสียออกทางลมหายใจ ระบบหมุนเวียนน้ำหลืองจำทำงานได้ดีขณะออกกำลังกาย เป็นการขจัดของเสียด้วยระบบน้ำเหลือง ถ้าระบบขับถ่ายของเสียตามที่กล่าวมาทำงานได้ดี ภาระที่ไตต้องขับของเสียก็จะลดลง เป็นการป้องกันไตเสื่อม และช่วยฟื้นฟูไตได้เป็นอย่างดี
4. อ.เอนกาย คำว่า อ.เอนกาย เพื่อให้เกิดการจำง่ายในเรื่องการพักผ่อน เพราะกระบวนการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายของคนเราต้องการหยุดพักในบางขณะเหมือนกับการทำงานของเครื่องยนต์ ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ตลอดเวลา ต้องการช่วงเวลาในการหยุดพักเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้กลับมามรสภาพดีดังเดิม ก่อนการใช้งานรอบต่อไป ร่างกายของคนเราธรรมชาติกำหนดช่วงเวลาพักผ่อนไว้ เป็นช่วงเวลาหลัก และช่วงเวลาย่อย ช่วงเวลาหลักในการพักผ่อนคือ ช่วงเวลากลางคืน ธรรมชาติต้องการให้มีการนอนหลับอย่างหลับลึกและหลับสนิท ธรรมชาติจึงได้ออกแบบฮอร์โมนไว้ 2 ชนิด ในการเป็นแม่งานในการซ่อมสร้างฟื้นฟูร่างกายในขณะหลับ
4.1 ฮอร์โมนตัวแรก คือ เมลาโทนินฮอร์โมน (melatonin) สร้างจากต่อมเหนือสมองหรือต่อมไพเนียล (pineal gland) และลำไส้เล็กขณะย่อยอาหาร เมลาโทนินจะทำให้เราเริ่มง่วงหลังดวงอาทิตย์ตกแล้วประมาณ 2-3 ชั่วโมง จะตรงกับเวลาประมาณ 20-21 นาฬิกา ดังนั้นเราจึงควรจะเข้านอนให้หลับในช่วงเวลาดังกล่าว จึงจะเป็นการพักผ่อนหลับนอนอที่มีคุณภาพดียิ่ง
4.2 ฮอร์โมนตัวที่สอง คือ โกรทฮอร์โมนหรือฮอร์โมนเจริญวัย (growth hormone) สร้างจากต่อมใต้สมองหรือพิทูอิทารี (pituitary gland) จะถูกขับออกมาเมื่อเราหลับสนิท มากระตุ้นให้ระบบการทำงานของร่างกายในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูซ่อมแซมและสร้างอวัยวะให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ธรรมชาติจะจัดเตรียมช่วงเวลาพักผ่อนหลักให้กับเราคือตั้งแต่ เวลาประมาณ 22.00 นาฬิกาเป็นต้นไป ถ้าเราหลับสนิทร่างกายจะถูกซ่อมสร้างโดยสมบูรณ์แบบ เมื่อซ่อมเสร็จเราก็จะหายง่วง เราตื่นขึ้นมาพร้อมกับความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ร่างกายพร้อมทำภารกิจต่อไป เวลาพักผ่อนย่อย เช่น หลังอาหารเที่ยงเราจะง่วง ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของเมลาโทนิน ฮอร์โมนจากต่อมเหนือสมองและฮอร์โมนจากลำไส้เล็กที่ออกมาขณะย่อยอาหาร ทำให้เริ่มง่วงขณะที่อาหารเริ่มถูกย่อย การงีบหลับ 20 นาที ก็พอเพียงให้เราตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า พร้อมจะปฏิบัตภารกิจต่อไปในช่วงบ่าย ถ้าเราสามารถจัดสรรเวลาหรือบริหารเวลานอนพักผ่อนให้หลับสนิทได้อย่างมีปสิทธิภาพ ร่างกายเราก็จะได้รับการฟื้นฟู ทุกระบบของร่างกายที่เสื่อมจนเกิดโรค NCDs ก็จะได้รับการการฟื้นฟู โรคไตเสื่อมก็จะได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน
การที่เราสามารถจัดรูปแบบการดำเนินชีวิตให้ 4 อ. ดังกล่าวได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องตามธรรมชาติ นอกจากจะเป็นการฟื้นฟูให้หายจากโรค NCDs แล้วยังเป็นการหยุกยั้งโรคไตเสื่อมและฟื้นฟูสภาพการทำงานของไตกลับคืนมาด้วย
ข้อมูล : นายแพทย์บุญชัย อิศราพิสิษฐ์ หนังสือพิชิตโรคร้ายโดยไม่ใช้ยา เล่ม 3: พิชิตมะเร็ง ฟื้นฟูไต ด้วยพลังธรรมชาติ