
กลูตามีน (Glutamine) เป็นกรดอะมิโนชนิดไม่จำเป็น (Non-Essential Amino Acid) ชนิดที่พบมากที่สุดในโปรตีนตามธรรมชาติ โดยทั่วไปแล้วลำไส้เล็กเป็นอวัยวะหลักที่ใช้ประโยชน์จากกลูตามีน โดยจะมีการดูดซึมที่ลำไส้เล็ก และเปลี่ยนกลูตามีนกลายเป็นซิทรูลีน (Citruline) เพื่อใช้ในการสังเคราะห์อาร์จินีน มีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลไนโตรเจน กำจัดแอมโมเนียส่วนเกินซึ่งเป็นของเสียของร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร มีส่วนช่วยในการรักษาแผล ช่วยป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อ เสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทและสมอง เป็นสารตั้งต้นในการสร้างของกลูตาไธโอน อันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีศักยภาพช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ รวมทั้งช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อร่างกายของคนเราอยู่ในสภาวะเครียดรุนแรง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุรุนแรง ผู้ที่มีความเครียดด้านสุขภาพหรือชีวิตประจำวัน จะทำให้กลูตามีนในเซลล์ลดลงอย่างมาก กลูตามีนจึงเป็นแหล่งอาหารและพลังงานหลักของกระบวนการสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เพราะที่ทำหน้าที่หลักสำหรับเซลล์ภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะช่วงที่มีความเครียดเพิ่มขึ้น
กลูตามีน ไม่เพียงเหมาะสำหรับคนที่ต้องการเพิ่มกล้ามเนื้อเพื่อลดไขมันและน้ำหนักเท่านั้น ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพก็ควรได้รับกลูตามีนให้เพียงพอเช่นกัน เราสามารถรับกรดอะมิโนชนิดนี้ได้จากแหล่งอาหารประเภทอาหารทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา กระหล่ำปลีม่วง ไข่ ถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ เฮเซลนัท พิสตาชิโอ ถั่วลิสง และวอลนัท ผักใบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ สาหร่าย อโวคาโด้ รวมทั้งน้ำนมแม่ ปัจจุบันอาหารทางการแพทย์และอาหารเสริมหลายชนิดที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ล้วนมีส่วนประกอบของกลูตามีน (Glutamine) และอาร์จีนีน (Arginine) เพิ่มขึ้นจากอาหารทางการแพทย์ทั่วไป
ประโยชน์ของกลูตามีน
1. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยกลูตามีนเป็นแหล่งอาหารและพลังงานหลักของกระบวนการสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต cytokines กระบวนการ lymphocyte proliferation หรือการทำลายแบคทีเรียของนิวโตรฟิล (neutrophil) ซึ่งมีผลการศึกษาวิจัยพบว่า การได้รับอาหารทางการแพทย์เสริมภูมิคุ้มกันที่มีกลูตามีนก่อนการผ่าตัดของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอ และมะเร็งระบบทางเดินอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน พบว่า ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยดีขึ้นและลดอุบัติการณ์การเกิดผลข้างเคียงหลังการผ่าตัด รวมทั้งการเกิดผลข้างเคียงต่อระบบโลหิตลดลงอย่างชัดเจน
2. ช่วยฟื้นฟูสุขภาพหลังผ่าตัด กลูตามินเป็นส่วนสำคัญช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอ จึงช่วยรักษาเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ รักษาบาดแผล สมานแผล และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง
3. เสริมสร้างและป้องกันการสลายตัวของกล้ามเนื้อ ลดอาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อในระหว่างออกกำลังกาย เนื่องจากเป็นกรดอะมิโนที่เป็นโครงสร้างสำคัญของกล้ามเนื้อ และช่วยทำลายกรดแลคติค (Lactic Acid) ที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อ ทำให้สามารถออกกำลังกายได้นานขึ้นโดยไม่เหนื่อยล้า เพิ่มความคงทนในการออกกำลังกาย เมื่อออกกำลังกายนานขึ้นจึงช่วยเพิ่มการหลังโกรทฮอร์โมนมากขึ้น
4. เสริมสร้างโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) โดยกลูตามีนจะกระตุ้นการหลั่งโกรทฮอร์โมน เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการเจริญเติบโตของกระดูก ช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย
ลดอาการเครียด และช่วยในการนอนหลับได้ดีขึ้น เพิ่มภูมิคุ้มกันต่อการเกิดโรคต่าง ๆ และลดปริมาณยูเรียในปัสสาวะ
5. เป็นแหล่งพลังงานที่มีสำหรับสมอง กลูตามีนเป็นแหล่งพลังงานหลักของสมอง ทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารสื่อประสาท คือ Gamma-Aminobutyric Acid (GABA) ซึ่งมีบทบาทสำคัญช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทและสมอง บำรุงสมองและความจำ กระตุ้นเซลล์ประสาทให้ทำงานได้ดี รวมไปถึงความสมดุลด้านอารมณ์
6. เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของเยื่อบุลำไส้ จึงจำเป็นต่อระบบทางเดินอาหาร ช่วยให้ดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยกระตุ้นให้กระเพาะและลำไส้สร้างเยื่อบุผนังได้เร็วขึ้น จึงช่วยในการรักษาโรคกระเพาะ ท่อน้ำดีอักเสบ และการรักษาการอักเสบของกระเพาะอาหารเนื่องจากเคมีบำบัด
ที่มา
อิ่มใจ ชิตาพนารักษ์. (2563). การใช้อาหารทางการแพทย์ชนิดเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด. สืบค้นจาก
http://www.wongkarnpat.com/articlepat.php?topic=26
Chitapanarux, L. et al. (2020). Arginine, glutamine, and fish oil supplementation in cancer patients treated with concurrent
chemoradiotherapy: A randomized control study. Curr Probi Cancer, 44(1), 1-10. DOI: 10.1016/j.currproblcancer.2019.05.005
Maldonado, J., Navarro, J., Narbona, E., & Gil, A. (2001). The influence of dietary nucleotides on humoral and cell immunity in the
neonate and lactating infant. Early Hum Dev, 65, S69-S74.
Reynolds, J. V., et al. (1988). Immunomodulatory mechanisms of arginine. Surgery, 104, 142-51.
Souba, W. W. (1991). Glutamine: a key substrate for the splanchnic bed. Aunu Rev Nutr, 11, 285-308.
DOi:10.1146/annurev.nu.11.070191.001441
Wilmore, D. W. et al. (1988). The gut: A central organ after surgical stress. Surgery, 104, 917-23.
Windmueller, H. G., & Spaeth, A. E. (1974). Uptake and metabolism of plasma glutamine by the samall Intestine. J Biol chem, 249,
5070-9.
Wo, G. H., Zhang, Y. W., & Wu, Z. H. (2001). Modulation of postoperative immune and Inflammatory response by immune-
enhancing enteral diet in gastrointestinal cancer patients. World J Gastroenterol, 7, 357–62.