
วิถีชีวิตคนยุคปัจจุบันที่เร่งรีบจากกิจวัตรประจำวัน จึงมักไม่ได้ทานอาหารเช้า และทดแทนด้วยการดื่มนมหรือกาแฟหรือข้ามมื้อเช้าไปโดยปริยาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การรับประทานอาหารเช้าเป็นการเติมพลังงานให้กับร่างกาย เนื่องจากในขณะหลับ ร่างกายจะไม่ได้รับพลังงานจากสารอาหารที่รับประทานอาหาร จึงต้องดึงพลังงานสำรองที่เรียกว่า ไกลโคเจน (Glycogen) ตามกล้ามเนื้อและตับออกมาใช้ตลอดคืน เพื่อช่วยคงระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้ต่ำจนเกินไป ร่างกายจึงมีระดับไกลโคเจนค่อนข้างต่ำในช่วงเช้า ดังนั้นเราจึงควรได้รับพลังงานด้วย “อาหารมื้อเช้า” เข้าไปเพิ่มเติม เพราะหากไกลโคเจนที่เป็นแหล่งพลังงานสำรองถูกนำมาใช้จนหมด ร่างกายจะเริ่มสลายกรดไขมันเพื่อนำไปเป็นพลังงานแทนชั่วคราว ซึ่งไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการนำมาใช้เป็นพลังงาน จึงทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรง ส่งผลต่อการเรียนรู้ หรือทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ
การไม่รับประทานอาหารมื้อเช้ายังสามารถทำให้เกิดความเครียดที่มีผลต่อการทำงานของสมองโดยตรง และฮอร์โมนคอร์ติซอลจะทำให้ร่างกายมีความต้องการน้ำตาล ทำให้ร่างกายลดระบบการเผาผลาญลง สมองจะหลั่งสารเคมีที่ชื่อว่า นิวโรเพปไทด์วาย (neuropeptide Y) ส่งสัญญาณให้บริโภคอาหารโดยไม่รู้ตัว มีภาวะที่เรียกว่า “อาการบริโภคกลางคืน” (night eating syndrome) เมื่อเริ่มบริโภคมื้อกลางวันแล้วจะหยุดไม่ได้จนกระทั่งเข้านอน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกระเพาะอาหาร ภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ
ดังนั้นการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยอาหารเช้าตามหลักโภชนาการ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินที่จำเป็นในแต่ละวันอย่างครบถ้วน ไม่ควรไปเน้นมื้ออื่น ๆ โดยเฉพาะมื้อเย็นซึ่งอาจเป็นผลเสียต่อสุขภาพตามมาการเลือกอาหารเช้าควรเน้นเลือกผัก ผลไม้ และธัญพืชอย่างน้อยปริมาณครึ่งหนึ่งและรับประทานก่อนอาหารประเภทอื่น เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่วนอื่น ๆ ก็จะเป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น ซีเรียลธัญพืช ข้าวกล้อง ขนมปังธัญพืช รวมทั้งกลุ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ถั่ว นมธัญพืชปราศจากน้ำตาล ก็จะช่วยกระตุ้นสมองให้พร้อมเรียนรู้ มีสมาธิจดจ่อและจดจำได้ดีขึ้น
นอกจากนี้การรับประทานอาหารเช้า ยังช่วยควบคุมสารเซโรโทนินและโดปามีนให้คงที่ ซึ่งมีผลต่อการควบคุมความรู้สึกและอารมณ์ ทำให้เราอารมณ์ดี รู้สึกผ่อนคลาย สงบ และมีส่วนช่วยเสริมสร้างสมองให้ทำงานรวดเร็ว คล่องแคล่ว ไม่เฉื่อยชา แต่หากเรากินอาหารเช้าน้อยยิ่งจะทำให้เครียด อ่อนไหวง่าย หงุดหงิดง่าย มีความอดทนน้อยลง ดังนั้นนอกจากอาหารเช้าจะช่วยลดความเครียดได้แล้ว อาหารเช้ายังมีประโยชน์มากมาย ดังนี้
1. ช่วยให้สมองทำงานเต็มที่และความจำดี
การรับประทานอาหารเช้ามีส่วนเพิ่มประสิทธิภาพการเรียน การทำงาน ทำให้ระบบความจำ ทักษะการเรียนรู้และอารมณ์ดีขึ้น หากไม่รับประทานอาหารเช้าจะมีสมาธิน้อยลง สมองทำงานได้ไม่เต็มที่ และอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญา ขาดสมาธิ ส่งผลเสียในระยะยาว
2. ช่วยควบคุมน้ำหนักได้
เนื่องจากร่างกายขาดอาหารมานานเกือบ 12 ชั่วโมง หากเรายิ่งไม่ทานอาหารเช้าจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง ทำให้เรามีความรู้สึกอยากทานอาหารที่มีพลังงานและไขมันสูงในมื้อเที่ยงมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
3. ลดความเสี่ยงโรคเส้นเลือดสมองและโรคหัวใจ
การรับประทานอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ระดับความเข้มข้นในเลือดเจือจางลง ส่งผลให้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมองและโรคหัวใจ เพราะในตอนเช้าเลือดของเรามีความเข้มข้นสูง เส้นเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองหรือหัวใจอาจอุดตันได้
4. ลดความเสี่ยงโรคนิ่วในถุงน้ำดี
การไม่รับประทานอาหารนานกว่า 14 ชั่วโมง ส่งผลให้คอเลสเตอรอลในถุงน้ำดีจับตัวกันเป็นเวลานาน หากเป็นเช่นนี้บ่อย ๆ สามารถเปลี่ยนเป็นก้อนนิ่วได้ การรับประทานอาหารเช้าจึงช่วยกระตุ้นให้ตับปล่อยน้ำดีออกมาละลายคอเลสเตอรอลที่จับตัวกันอยู่ได้
5. ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน
การรับประทานอาหารเช้าช่วยลดภาวะผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน หรือที่เรียกว่าภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานได้ถึง 35-50% การรับประทานอาหารเช้าจึงช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้
เมื่อเรารู้ว่าอาหารเช้านั้นมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไรแล้ว เราก็ต้องจัดสรรเวลาที่เร่งรีบมาทานอาหารมื้อเช้า แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานและใช้ชีวิตตลอดวัน
เอกสารอ้างอิง
วิชุดา ศรีนิ่มนวล. (2558). ความรู้ การบริโภคอาหารเช้าและภาวะสุขภาพของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระ สาขาวิชาโภชนศาสตร์ศึกษา หลักสูตรปริญญา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.