
ไฮโดรไลซ์ เวย์ โปรตีน (Hydrolyzed Whey Protein) เป็นเวย์โปรตีนชนิดหนึ่งที่ผ่านกระบวนการ hydrolyzed จากเวย์โปรตีนคอนเซนเทรท (Whey protein concentrate (WPC) และเวย์โปรตีนไอโซเลต (Whey Protein Isolate - WPI) ทำให้โมเลกุลของเวย์โปรตีนที่มีขนาดใหญ่ ถูกย่อยจนอยู่ในรูปของโมเลกุลเล็ก ๆ เรียกว่า เปปไทด์ (peptides) ทำให้มีโปรตีนบริสุทธิ์สูงถึง 100% ปราศจากน้ำตาลแลคโตสและไขมัน ดังนั้น “ไฮโดรไลซ์ เวย์ โปรตีนเป็นเวย์โปรตีนชนิดที่ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้ดีที่สุดและรวดเร็ว” ร่างกายสามารถดูดซึมได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อย ลดโอกาสในการแพ้หรือไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการแพ้โปรตีนในนมได้อีก จึงนิยมนำมาใช้ใน สูตรสำหรับทารกแทนนมมารดา เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง ผู้ที่แพ้โปรตีนจากนม ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ผู้ที่มีปัญหาระบบการย่อยอาหาร นักกีฬา ผู้ต้องการลดไขมันเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ รวมทั้งนิยมใช้ในกระบวนการทางการแพทย์และเหมาะเป็นอาหารทางการแพทย์ แต่ด้วยไฮโดรไลซ์ เวย์ โปรตีนจะมีความขม จึงมีการนำมาผสมเข้ากับไอโซเลต เวย์ โปรตีน และแต่งกลิ่นธรรมชาติตามความนิยมของผู้บริโภค
ประโยชน์ของไฮโดรไลซ์ เวย์ โปรตีน
การทำโปรตีนไฮโดรไลซ์ (hydrolyzed) เป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้เพิ่มมูลค่าของเวย์ โดยการย่อยเวย์โปรตีน สามารถย่อยได้ด้วยเอนไซม์ในระบบย่อยอาหาร และเอนไซม์โปรตีเอส (Protease) จากพืชหรือจุลินทรีย์ ซึ่งสามารถสร้างเปปไทด์จากโปรตีนไฮโดรไลเซทที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพและประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้
1. เป็นสารต้านอนุมูลอิสระโดยผ่านกลไกของการยับยั้ง Reactive oxyden species (ROS) การกำจัดอนุมูลอิสระ การยับยั้งการออกซิเดชันของไขมัน การจับโลหะหรือการรวมกันของทุกวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบและลำดับของกรดอะมิโนในเปปไทด์นั้น โดยเปปไทด์ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระปกติจะประกอบด้วยกรดอะมิโน 5-11 ตัว ซึ่งรวมถึงโพรลีน (Proline) ฮิสตีดีน (Histidine) ไทโรซีน (Tyrosine) และ/หรือทริปโตแฟน (Tryptophan) [1]
2. เป็นโปรตีนบริสุทธิ์ ปราศจากน้ำตาลแลคโตสและไขมัน มีกรดอะมิโนจำเป็นในปริมาณสูง รวมทั้งโมเลกุลเล็กร่างกายดูดซึมไปใช้ได้ดีที่สุดและรวดเร็ว จึงช่วยซ่อมและสร้างเซลล์ของอวัยวะที่เสื่อมได้ โดยเฉพาะกลุ่มโรค NCDs ที่ต้องการอาหารที่โปรตีนสูงและสะอาด ได้แก่ มะเร็ง ไตเสื่อม เบาหวาน ภูมิแพ้ แพ้ภูมิตัวเอง โรคไขมัน โรคอ้วน รวมทั้งผู้ที่ต้องการเสริมโปรตีนให้กับร่างกาย นั่นก็คือ การลดปริมาณโปรตีนจากอาหารลงสู่ระดับที่ปลอดภัย และใช้กรดอะมิโนเข้าไปชดเชยปริมาณโปรตีนจากอาหาร
3. เปปไทด์ ที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นไดเปปไทด์และไตรเปปไทด์มีคุณสมบัติเหนือกว่าโปรตีนปกติในแง่ของการสร้างโปรตีนกล้ามเนื้อ เพราะดูดซึมกรดอะมิโนได้เร็วกว่าโปรตีนปกติ เป็นการส่งผ่านสารอาหารเข้าสู่เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อได้มากขึ้น
4. ไฮโดรไลซ์ เวย์ โปรตีนอุดมไปด้วยกรดอะมิโนอิสระและเปปไทด์ชนิดที่ชอบน้ำสามารถเพิ่มการตอบสนองต่อการกระตุ้นอินซูลินของเซลล์ BRIN-BD11[2] นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่ามีผลทางบวกต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือดและการตอบสนองต่อการกระตุ้นอินซูลินในมนุษย์[3]
5. ไฮโดรไลซ์ เวย์ โปรตีน และเปปไทด์ เปรียบเสมือนสารกันเสียจากธรรมชาติ จากการทดสอบต่อผลการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ด้วยวิธี in vitro พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญเติบโดของเชื้อจุลินทรีย์ Escherichia coli XL1 และ Listeria innocua ลงได้[4]
6. เปปไทด์มีปฏิกิริยาในการต้านความดันโลหิตสูงได้เพราะมีความสามารถในการยับยั้งเอนไซม์ ACE
การเปลี่ยนเวย์โปรตีนเป็นไฮโดรไลซ์ เวย์ โปรตีนที่มีประโยชน์โดยการใช้เอนไซม์ย่อย เพื่อให้ได้เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ ชี้ให้เห็นว่าเวย์เป็นแหล่งที่ดีของเปปไทด์ที่มีประโยชน์ ดูดซึมได้ดี ซึ่งเปปไทด์เหล่านี้นอกจากเป็นอาหารฟังก์ชั่น (FunctionAal Food) ที่มีคุณค่าทางโภชนาการพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีส่วนช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ และการพัฒนาอาหารที่มีความเหมาะสมกับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุอีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเป็นอาหารนวัตกรรมใหม่ (Novel Food)
1 Zhou, D., et.al. (2012). In vitro antioxidant activity of enzymatic hydrolysates prepared from abalone viscera. Food and
Bioproducts Processing, 90,148-154.
[2] Nong0nierma, A.B., et.al. (2013) Dipeptidyl peptidase IV inhibitory properties of a whey protein hydrolysate: Influence of
Fractionation, stability to simulated gastrointestinal digestion and food-drug interaction. International Dairy Journal,
32, 33-39.
[3] Jakubowicz, D. (2013). Biochemical and metabolic mechanisms by which dietary whey protein may combat obesity and type 2
diabetes. Journal of Nutritional Biochemistry, 24, 1-5.
4 Jrad, Z., et.al. (2014). Effect of digestive enzymes on antimicrobial, radical scavenging, and angiotensin I-converting enzyme
inhibitory activities of camel colostrum and milk proteins. Dairy Science & Technology, 94, 205-224.
5 ทศพร นามโฮง. (ม.ป.ป.) เวย์โปรตีน แหล่งของเปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ (Biological activity). มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ.
สืบค้นจาก http://fic.nfi.or.th/futurefood/upload/research_article/file12.pdf