
แครนเบอร์รี่ (Cranberry) คือ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีผลสีแดง รสชาติเปรี้ยวอมหวาน เป็นผลไม้ที่อุดม ไปด้วยสารพฤกษเคมีที่ออกฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี, วิตามินอี, โปรแอนโธไซยานิดิน (Proanthocyanidins), คาเทซิน (Catechins), ไตรเทอปีนอยด์ (Triterpenoids), กรดควินิค (Quinic acid) กรดฮิพพิวริค (Hippuric acid) และแทนนิน (Tannin) นอกจากนี้ยังมีวิตามินเค 1, แมงกานีส และทองแดง ซึ่งล้วนมีประโยชน์ จึงจัดได้ว่าเป็นสุดยอดอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
ประโยชน์
1. ป้องกันและลดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
โปรแอนโธไซยานิดิน (Proanthocyanidin: PACs) ในแครนเบอรี่ สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างกรดฮิปพูริก (Hippuric acid) ซี่งมีฤทธิ์เหมือนยาปฏิชีวนะในทางเดินปัสสาวะ ที่ช่วยยับยั้งหรือกำจัดแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ โดยขัดขวางเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคไม่ให้เกาะติดเซลล์ชั้นในของทางเดินปัสสาวะ และง่ายต่อการขับแบคทีเรียพร้อมกับปัสสาวะ จึงสามารถป้องกันและรักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (Graber, 2020; Chen, Mah, & Liska, 2019)
2. ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ
โปรแอนโธไซยานิดิน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สามารถยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชันกับไขมันร้าย (LDL-C) จึงช่วยป้องกัน Oxidized LDL ซึ่งเป็นสาเหตุของหลอดเลือดตีบและอุดตัน โดยแครนเบอรี่ 100 กรัม สามารถยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชันกับไขมันร้าย (LDL-C) ได้เทียบเท่ากับวิตามินซี 1000 มิลลิกรัม และวิตามินอี 3,700 มิลลิกรัม (Chu, & Liu, 2005: 1892-1901; Khoo, Falk, & Zhang, 2018 : 107-122)
นอกจากช่วยลดไขมันร้าย (LDL-C) ในเลือดแล้ว สารต้านอนุมูลอิสระจากแครนเบอร์รี่สามารถเหนี่ยวนำให้ตัวรับไขมันเลว (LDL) ที่ตับทำงานมากขึ้น โดยเพิ่มการนำคอเลสเตอรอลส่วนเกินจากเซลล์กลับไปยังตับ เพื่อทำลายหรือขับออกในรูปของเสียจากร่างกาย จึงช่วยลดคอเลสเตอรอลได้
3. เสริมสร้างภูมิต้านทานร่างกาย
สารพฤกษเคมีในแครนเบอรี่ ได้แก่ วิตามินซี, วิตามินอี, โปรแอนโธไซยานิดิน (Proanthocyanidins), คาเทซิน (Catechins), ไตรเทอปีนอยด์ (Triterpenoids), กรดควินิค (Quinic acid) กรดฮิพพิวริค (Hippuric acid) และแทนนิน (Tannin) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต้านการอักเสบ จึงช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โปรแอนโธไซยานิดิน” เป็นสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟลาโวนอยด์ ยังช่วยสร้างสมดุลให้กับฮอร์โมนเพศในร่างกาย ปรับสมดุลให้สุขภาพต่อมลูกหมากแข็งแรง และช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก (โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ)
นอกจากนี้วิตามินซีในแครนเบอรี่ยังช่วยทำให้ผิวพรรณชุ่มชื่น เสริมสร้างและฟื้นฟูคอลลาเจนใต้ผิว ยับยั้งการเสื่อมสภาพของผิวช่วยชะลอความแก่อีกด้วย
แครนเบอรี่มีประโยชน์มากมาย ที่สำคัญเราควรเลือกรับประทานให้เหมาะสม หากเราอยากได้รับประโยชน์สูงสุด เราควรเลือกแครนเบอรี่ในรูปของแคปซูล เนื่องจากมีสารออกฤทธิ์เข้มข้น หรือรับประทานเป็นแครนเบอรี่อบแห้งก็สะดวกและง่ายต่อการรับประทาน
ที่มา
โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ. 3 สารอาหารดี ๆ ช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก. Retrieved from
https://www.wattanosothcancerhospital.com/all-about-cancer/3-supplements-for-
prevention-of-prostate-cancer.
Chen, O., Mah, E., Liska, De. (June, 2019). Effect of Cranberry on Urinary Tract Infection Risk:
A Meta-Analyses. Current Developments in Nutrition, 3(1): P06-116-19,
https://doi.org/10.1093/cdn/nzz031.P06-116-19
Chu, Y. F., & Liu, R. H. (2005). Cranberries inhibit LDL oxidation and induce LDL receptor
expression in hepatocytes. Life Sciences. 77(15): 1892-1901.
Graber, E. (November, 2020). Cranberries: ASN Journals Examine a Thanksgiving Favorite. ASN
Journals, https://nutrition.org/cranberries-asn-journals-examine-a-thanksgiving-favorite/
Khoo, Ch., Falk, M., & Zhang, J. (2018). Polyphenols: Prevention and Treatment of Human
Disease. (2nd ed.). San Diego, United States, Academic Press Inc.