
ภาวะไตเสื่อม ถือเป็นโรค NCDs ที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงมาก ในปี พ.ศ. 2564 กระทรวงสาธารณสุขประมาณการว่า มีผู้ป่วยภาวะไตเสื่อมมากกว่า 12 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 17 ของประชากร ความน่ากลัวของภาวะนี้ คือ ภาวะความเสื่อมจะทวีความรุนแรงขึ้นตลอดเวลา เมื่อภาวะความเสื่อมเข้าสู่ระดับ 5 เรียกภาวะนี้ว่า ไตวาย หากไม่ได้รับการช่วยเหลือด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการฟอกเลือดทางหน้าท้อง ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
การทำงานของไต ในการขับของเสียออกมากับปัสสาวะ เกิดจากการที่หลอดเลือดแดงใหญ่จากหัวใจ (Descending Aorta) ส่งเลือดผ่านเข้าไตทั้ง 2 ข้างทางหลอดเลือดแดงไต (Renal Artery) และหลอดเลือดแดงไตแตกแขนงออกเป็นหลอดเลือดแดงฝอย ประมาณ 1 ล้านหน่วย ในหน่วยไต (nephron) และเลือดจะไหลกลับทางหลอดเลือดดำฝอยในหน่วยไต (nephron) ทำให้เกิดการขับน้ำปัสสาวะออกทางท่อเล็ก ๆ ในหน่วยใต (nephron) เรียกท่อเล็ก ๆ นี้ว่า "tubule" จากหน่วยไต (nephron) ที่มีจำนวนข้างละประมาณ 1 ล้านหน่วย จะเกิดการรวบรวมน้ำปัสสาวะที่กรวยไต (Pelvis of Kidney) แล้วขับออกทางท่อปัสสาวะจากไต (Ureter) ลงสู่กระเพาะปัสสาวะ
ไตของเรามีหน้าที่หลายอย่าง ประกอบด้วยหน้าที่หลักคือ
1. กรองของเสียจากในเลือดแล้วขับถ่ายออกมากับน้ำปัสสาวะ
ของเสียหลักที่ไตขับทิ้งคือ “ยูเรีย” ซึ่งได้จากการที่ร่างกายย่อยสลายโปรตีน แล้วเกิดสารแอมโมเนีย (Ammonia) แอมโมเนียมีพิษต่อร่างกายสูงมาก ตับจะรีบจัดการเปลี่ยนแอมโมเนียในเลือดให้เป็นยูเรีย ซึ่งมีพิษต่อร่างกายลดลง ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงจะเป็นภาระหนักทั้งของตับและไต เพราะตับต้องเปลี่ยนแอมโมเนียให้เป็นยูเรีย และไตต้องคอยขับยูเรียออกมากับปัสสาวะ ส่วนผู้ป่วยโรคไตเสื่อมต้องลดปริมาณการรับประทานโปรตีนลงเพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักและเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น
2. ปรับสมดุลน้ำในร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
เมื่อเราดื่มน้ำมากเกินกว่าที่ร่างกายเราต้องใช้ ไตก็จะขับปัสสาวะออกมามากขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าเรารับประทานน้ำน้อยเกินไป ไตจะขับปัสสาวะลดลงเพื่อรักษาน้ำไว้ในร่างกายให้เพียงพอต่อความจำเป็นที่ต้องการใช้ การทำหน้าที่ปรับปริมาณน้ำในร่างกายให้เหมาะสม ไตต้องทำงานร่วมกับต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ที่ผลิตฮอร์โมนซึ่งคอยควบคุมการขับน้ำจากร่างกาย
3. ปรับสมดุลกรดและด่างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
เลือดของคนเราควรมี “ค่าความเป็นกรดและด่าง” หรือค่าพีเอช (pH-Potential Hydrogen) ที่เหมาะสมอยู่ที่ 7.4 เพราะจะทำให้การทำงานของเซลล์ทุกเซลล์มีประสิทธิภาพสูงสุด ถ้าเลือดมีความเป็นกรดสูงเกินไป ไตจะขับกรดออกมากับปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าเลือดมีความเป็นด่างมากเกินไป ไตจะลดการขับกรดลง การควบคุมระดับความเป็นกรดและด่างในเลือด ไตต้องทำงานร่วมกับปอดด้วย
4. ปรับสมดุลของเกลือแร่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
เกลือแร่ที่ไตต้องคอยปรับระดับให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา ก็คือ โซเดียม โพแทสเชียม คลอไรด์ ฟอสฟอรัส และแคลเชียม ส่วนที่ทำหน้าที่ปรับสมดุลเกลือแร่ของไต คือส่วนที่เรียกว่า “ท่อไต (Renal Tubule)”
5. ปรับปริมาณเม็ดเลือดแดงในกระแสเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ไตมีกลไกการควบคุมให้ไขกระดูก สร้างเม็ดเลือดแดงมากหรือน้อย ด้วยการผลิตฮอร์โมนชื่อ อีริโทรพอยอีติน (Erythropoietin) จากเซลล์ในเนื้อเยื่อของไตที่เรียกว่า อินเตอร์สติเชียลทิสชู (Interstitial Tissue)
ถ้าต้องการให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงมาก ไตก็จะผลิตฮอร์โมนอีริโทรพอยอีตินออกมามาก ในสภาวะที่ไตเสื่อมสภาพจากโรคไตวายเรื้อรัง ไตจะผลิตฮอร์โมนอีริโทรพอยอีตินได้ลดลง ทำให้ไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดแดงลดลง จึงทำให้ผู้ป่วยไตเสื่อมมีเม็ดเลือดแดงในกระแสเลือดน้อย ที่เรานิยมเรียกว่า “ภาวะซีดหรือภาวะโลหิตจาง”
6. ผลิตฮอร์โมนและวิตามิน ได้แก่
6.1 ฮอร์โมนเรนิน (Renin)
ช่วยในการควบคุมความดันโลหิตและการดูดซึมเกลือแร่ที่ไต เมื่อไตเสื่อมการผลิตฮอร์โมนเรนินและการดูดซึมเกลือแร่จะผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและสมดุลของเกลือแร่แปรปรวน
6.2 ฮอร์โมนอีริโทรพอยอีติน
ช่วยกระตุ้นให้ไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดแดง เมื่อไตเสื่อมทำให้การผลิตฮอร์โมนชนิดนี้ลดลงจึงเกิดภาวะซีดตามมา
6.3 วิตามินดี
ช่วยควบคุมการดูดซึมแคลเซียมจากอาหาร และช่วยเสริมสร้างกระดูก เมื่อไตเสื่อมการผลิตวิตามินดีก็ลดลง มีผลทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดลดลง ทำให้กระดูกและกล้ามเนื้ออ่อนแอ
ภาวะไตเสื่อม คือ การที่หน่วยไต (nephron) มีการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดงฝอย หรือหลอดเลือดดำฝอยในหน่วยไต (nephron) ทำให้เลือดไหลผ่านไตได้น้อยลง (ค่า eGFR ลดลง) การเสื่อมสภาพของหลอดเลือดเหล่านี้มีสาเหตุหลายประการ
1. ความชราทำให้ไตเสื่อม
เมื่อเราอายุมากขึ้น จำนวนหน่วยกรองปัสสาวะในไตจะค่อย ๆ ลดจำนวนลงตามธรรมชาติ หากเรารู้จักเลือกรับประทานอาหารตามหลักธรรมชาติ นอกจากจะช่วยให้การเสื่อมสภาพของไตเกิดขึ้นช้าลง ยังช่วยในการฟื้นฟูไตอีกด้วย ทั้งยังเป็นการลดภาระการทำงานของไตลง
2. โรคเบาหวานทำให้ไตเสื่อม สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้ไตเสื่อมคือ โรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ยิ่งระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติมากเท่าไร ไตจะเสื่อมเร็วและเสื่อมรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากน้ำตาลระดับสูงในเลือดจะก่อให้เกิดการอักเสบในเซลล์ ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย รวมทั้งเซลล์ของผนังเส้นเลือดด้วย เมื่อเกิดการอักเสบก็จะเกิดการเสื่อมสภาพตามมา
หากผู้ป่วยเบาหวานควบคุม “ระดับน้ำตาลที่ได้จากการเจาะเลือด” และ “ค่าน้ำตาลสะสม” หรือ HbA1c-Hemoglobin A1c ได้ดีจาก “การควบคุมอาหาร” ไตของท่านก็จะหยุดเสื่อมจากโรคเบาหวาน สาเหตุรองลงมาคือ ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาเบาหวาน เพราะสารเคมีที่ใช้ทำยาทุกชนิดต้องถูกขับทิ้งออกทางไต การรับประทานเป็นเวลานานจึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ไตมีโอกาสเสื่อมจากยา ส่วนการฉีดยาเบาหวานไม่ทำให้ไตเสื่อม
3. โรคความดันโลหิตสูงทำให้ไตเสื่อม เป็นสาเหตุที่พบบ่อยรองลงมาจากโรคเบาหวาน
ความดันโลหิตที่สูงมากจะทำให้เส้นเลือดในหน่วยกรองปัสสาวะในไต ซึ่งมีขนาดเล็กมากและบอบบางมาก เกิดความเสียหายและเสื่อมสภาพได้ง่าย ในขณะเดียวกันไตยิ่งเสื่อมมากเท่าไร เส้นเลือดในไตที่เสื่อมจะยิ่งไปขัดขวางไม่ให้เลือดไหลผ่านไตได้สะดวก ก็จะยิ่งไปเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้นอีก เรียกได้ว่าเป็น “วงจรแห่งความเสื่อม” นอกจากนี้ยาควบคุมความดันโลหิต ก็มีผลข้างเคียงทำให้ไตเสื่อม เช่นเดียวกับยาควบคุมระดับน้ำตาล ในเลือด
ความดันโลหิตในคนเรา ปกติควรมีค่าตัวบนขณะที่หัวใจบีบตัว (Systolic) ไม่เกิน 140 มม.ปรอท (mmHg) และควรมีค่าตัวล่างขณะที่หัวใจคลายตัว (Diastolic) ไม่เกิน 90 มม.ปรอท ถ้าควบคุมได้ในระดับดังกล่าวจะไม่ทำให้ไตเสื่อม
4. โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเองทำให้ไตเสื่อม
ผู้ที่ไตเสื่อมจากภูมิคุ้มกันกลับมาทำร้ายไตตัวเอง มักพบได้ตั้งอายุยังไม่มาก บางรายไตเริ่มเสื่อมตั้งแต่อายุ 20 ปี หรือบางรายก็อาจเป็นในตอนสูงอายุก็ได้
โรคที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันที่กลับมาทำร้ายร่างกายเรา แทนที่จะคอยป้องกันโรคให้กับเรา เช่น เอสแอลอี (SLE) รูมาตอยด์ สะเก็ดเงิน หนังแข็ง เบาหวานชนิดที่ 1 ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเหล่านี้มากขึ้นกว่าในอดีตมาก สาเหตุสำคัญในการเกิดโรคเหล่านี้มาจากความเครียด การรับประทานผิดกฎธรรมชาติ และการใช้ชีวิตที่ผิดธรรมชาติ
5. โรคพันธุกรรมทำให้ไตเสื่อม
โรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ไตเสื่อมมีหลายประเภท บางชนิดเกิดจากขนาดไตเล็กกว่าปกติ บางชนิดมีถุงน้ำจำนวนมากอยู่ในไต บางคนเกิดมาอาจมีไตเพียงข้างเดียว ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวข้างต้นมาตั้งแต่แรกเกิด ไตจะทำงานหนักกว่าคนปกติทั่วไปมาตังแต่เด็ก เพราะว่าจำนวนหน่วยกรองปัสสาวะในไตจะมีจำนวนน้อยกว่าคนทั่วไป จึงต้องดูแลสุขภาพร่างกายและไตตั้งแต่วัยเด็ก หากดูแลไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง ไตก็จะเริ่มเสื่อมตั้งแต่อายุยังไม่มาก หลักการในการดูแลจะเป็นหลักการเดียวกันกับไตเสื่อมจากภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง
6. ผู้ที่มีไตเพียงข้างเดียวทำให้ไตที่เหลือเสื่อมได้ง่าย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ที่มีไตปกติมาแต่กำเนิด แต่เหลือไตข้างเดียวในเวลาต่อมาก็คือ การบริจาคไตให้กับญาติ การเกิดอุบัติเหตุทำให้ต้องตัดไตทิ้ง ผู้ที่มีมะเร็งเกิดขึ้นที่ไตและแพทย์ได้ผ่าตัดไตข้างที่เกิดมะเร็งออกไป แนวทางการรักษาผู้ที่ไตเสื่อมด้วยสาเหตุนี้ ยังคงใช้แนวทางเดียวกับผู้ที่ไตเสื่อมจากสาเหตุโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเองทำให้ไตเสื่อม และโรคพันธุกรรมทำให้ไตเสื่อม
7. การขาดเลือดมาเลี้ยงไตเนื่องจากโรค หรือภาวะบางประการทำให้ไตเสื่อม
มีสาเหตุบางประการที่ทำให้เลือดมาเลี้ยงไตน้อยกว่าปกติ เช่น การเสียเลือดเป็นจำนวนมาก การขาดน้ำในร่างกาย การติดเชื้อในกระแสเลือดแบบรุนแรง จึงทำให้ไตเสื่อมสภาพแบบเฉียบพลัน หากสาเหตุนี้คงอยู่ต่อเนื่องนานจะทำให้ไตเสื่อมสภาพแบบถาวรได้ สำหรับผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคเส้นเลือดในสมองตีบตันก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เส้นเลือดที่มาที่ไตตีบตันเช่นเดียวกัน
8. การรับประทานโปรตีนเป็นจำนวนมากทำให้ไตเสื่อม
ปัจจุบันนี้รูปแบบของอาหารเปลี่ยนไปจากเดิม คนส่วนใหญ่นิยมบริโภคอาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ไข่ นม ถั่ว และเห็ดต่าง ๆ ถ้ารับประทานมากจนเกินไป ไตจะต้องทำงานหนักเพื่อขับของเสียที่เกิดจากการย่อยสลายโปรตีนและการเผาผลาญโปรตีนในร่างกาย
อาหารโปรตีนสูงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราไตเสื่อมมากกว่าอาหารที่มีเกลือสูง โดยทั่วไปเมื่อไตเสื่อม คนส่วนใหญ่ก็จะหยุดรับประทานเค็ม แต่ไม่ลดการรับประทานอาหารโปรตีนสูงลง ซึ่งจะไม่ทำให้ไตของผู้ป่วยดีขึ้นแต่อย่างใดเลย
9. การรับประทานเกลือเป็นจำนวนมากทำให้ไตเสื่อม
การรับประทานเกลือมากเกินไปทำให้เป็นภาระให้ไตต้องขับทิ้งมากเกินไป แต่อย่างไรก็ตามควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากการหยุดรับประทานเกลืออาจทำให้เกลือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงในเลือดต่ำมากจนถึงระดับอันตรายได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมโดยละเอียด
10. การได้รับสารพิษและสารเคมีทำให้ไตเสื่อม
รูปแบบชีวิตความเป็นอยู่ของคนยุคปัจจุบันนี้ ทำให้คนเราได้รับสารเคมีเป็นจำนวนมาก ทั้งจากมลพิษในสิ่งแวดล้อม จากการปนเปื้อนมากับอาหาร เครื่องดื่ม รวมทั้งยารักษาโรคต่าง ๆ ล้วนเป็นสาเหตุทำให้ ไตต้องทำงานหนัก ไตอ่อนแอลงจนเสื่อมสภาพในที่สุด นอกจากนั้นความเครียดจากการทำงาน หรือความเครียดจากความคิดและอารมณ์ ก็มีส่วนทำให้เกิดสารพิษขึ้นในร่างกายส่งผลเสียทำให้ไตเข้าสู่ภาวะเสื่อมได้เร็วยิ่งขึ้น
11. เคมีบำบัด
เคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษามะเร็ง ทำให้หลอดเลือดที่ไตและร่างกายส่วนอื่น ๆ เสื่อม
12. มีภาวะฉุกเฉินที่ทำให้ความดันโลหิตตกลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง (ภาวะ Shock) จนทำให้เลือดไหลผ่านไตน้อยลงอย่างเฉียบพลัน เช่น ท้องเสียอย่างรุนแรง อาเจียนรุนแรง ติดเชื้อในกระแสเลือดจนเกิดภาวะช็อก จะทำให้หลอดเลือดในหน่วยไต (nephron) ได้รับความเสียหาย
13. มีภาวะนิ่วไปอุดตันทางเดินปัสสาวะบางส่วน ทำให้เกิดแรงดันตีกลับไปที่ไตทำให้ไตพองตัว หน่วยไตได้รับความเสียหาย
14. มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แล้วลุกลามเข้าไปในไตจนเกิดความเสียหายต่อหน่วยไต (nephron)
สาเหตุต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นสามารถป้องกันได้ หากเราเริ่มลงมือป้องกันไตเสื่อมตั้งแต่ไตยังมีคุณภาพดี เราจะมีไตที่มีคุณภาพดีไว้ใช้งานได้ตลอดชีวิต หากท่านเริ่มรู้ตัวว่าไตเสื่อม การเริ่มดูแลตนเองและฟื้นฟูโดยเร็วที่สุดโดยปฏิบัติอย่างถูกต้องทุกประการ ไตของเราจะสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติดังเดิม แม้ว่าเราต้องฟอกไตแล้วก็ตาม