
ครีมเทียม (Non-Dairy Creamer) เป็นผลิตภัณฑ์ผสมเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างมาในปัจจุปัน ครีมเทียมโดยทั่วไปมีส่วนผสมหลัก คือ ไขมันปาล์ม ไขมันพืช น้ำเชื่อมกลูโคส (Glucose syrup) โซเดียมเคซิเนต (Sodium caseinate) เพื่อเปลี่ยนจากของเหลวให้เป็นของแข็ง กระบวนการนี้ทำให้เกิดไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคไตเสื่อม โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันพอกตับ หลอดเลือดอุดตันที่หัวใจและสมองได้ง่าย
ไขมันทรานส์มีทั้งในธรรมชาติและจากกระบวนการผลิตอาหาร
1. กรดไขมันทรานส์ที่พบในธรรมชาติอยู่ในสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย เนื่องจากสัตว์เหล่านี้มีเอนไซม์ isomerase ที่ไปทำปฏิกิริยากับกรดไขมันไม่อิ่มตัว เปลี่ยนจาก cis-form เป็น trans-form
2. กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงทำให้นำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้น
ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่าไขมันทรานส์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อกำจัดไขมันทรานส์ ตั้งแต่ปี 2560 และได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 388 พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2561 เพื่อห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายพร้อมตรวจสอบวิเคราะห์อาหารที่อาจมีการใช้น้ำมันหรือไขมันทรานส์อย่างเข้มงวด
ผลเสียของไขมันทรานส์ต่อสุขภาพ
1. ไขมันทรานส์เป็นไขมันที่ย่อยยากกว่าไขมันชนิดอื่น ทำให้ร่างกายต้องสร้างกระบวนการกำจัดไขมัน ทรานส์ออกจากร่างกาย เพราะร่างกายถือว่าเป็นสารแปลกปลอมที่ร่างกายต้องทำลายทิ้ง เมื่อร่างกายทำลายได้ไม่หมดจะเกิดการตกค้างในร่างกาย ทำให้เกิดเป็นสารก่อมะเร็ง และทำให้เซลล์ในร่างกายกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด รวมทั้งทำให้ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ จึงก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้โดยง่าย
2. ทำให้ “ตับ” สร้างไขมันร้ายทั้งไตรกลีเซอไรด์ (Tri) และไขมันร้าย (LDL-C) เพิ่มขึ้น และไขมันดี (HDL-C) ลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ หลอดเลือดอุดตันที่หัวใจและสมองได้ง่าย และทำให้เกิดไตเสื่อม
3. ไขมันทรานส์มีผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลินลดลง สามารถทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance)
น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ คือ น้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการสกัดแยกน้ำมันจากเนื้อผลของต้นมะพร้าว ซึ่งเป็นพืชในตระกูลปาล์ม ด้วยวิธีการสกัดแยกจากเนื้อมะพร้าวด้วยวิธีการบีบสกัดแบบเย็น (cooling press extraction) โดยไม่ผ่านกระบวนการที่ใช้ความร้อนสูงและไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปทางเคมี จึงช่วยรักษาสารอาหารของน้ำมันมะพร้าวไว้ได้มากที่สุด ได้แก่ กรดลอริกที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค กรดไขมันอิ่มตัวที่มีขนาดโมเลกุลปานกลางซึ่งสามารถดูดซึมเข้ากระแสเลือดตรงไปสู่ตับโดยตรง ทำให้เปลี่ยนเป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยน้ำดีจากตับอ่อนมาช่วยย่อย จึงถูกสะสมในเนื้อเยื่อไขมันได้น้อยและช่วยในการคุมน้ำหนัก รวมทั้งมีวิตามินอีและโพลิฟีนอลซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นจึงเป็นที่นิยมรับประทานเพื่อสุขภาพ
ในส่วนของ “กระบวนการผลิตครีมเทียมจากน้ำมันมะพร้าว (Coconut Oil Non Dairy Creamer)” จะเป็นการเติมไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์ (fully hydrogenation) จึงไม่ได้เป็นแหล่งของไขมันทรานส์ สอดคล้องกับผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ในครีมเทียมที่ทำจากน้ำมันมะพร้าว ของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย พบว่า มีปริมาณไขมันทรานส์ ระหว่าง 0.02 – 0.25 กรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งเกณฑ์การแสดงค่าสารอาหารบนฉลากโภชนาการตามที่กฎหมายกำหนดคือ ค่าที่วิเคราะห์ได้น้อยกว่า 0.5 กรัม สามารถแสดงค่าบนฉลากเป็น 0.0 กรัม ดังนั้นจึงสามารถยืนยันได้ว่า ครีมเทียมที่ทำจากน้ำมันมะพร้าว ไม่ได้เป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์
แม้ว่าปัจจุบันกระบวนการผลิตครีมเทียมจากน้ำมันมะพร้าว (Coconut Oil Non Dairy Creamer) เป็นแบบไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์ แต่เมื่อคำนวณเทียบต่อหน่วยบริโภค (3 กรัม) ถือว่าร่างกายจะได้รับไขมันทรานส์น้อยมาก ในขณะที่ครีมเทียม (Non-Dairy Creamer) เป็นแหล่งของไขมันและส่วนประกอบที่เป็นสารให้ความหวานมากถึงร้อยละ 60 รวมทั้งปริมาณที่ใช้ต่อการผสมในเครื่องดื่มมีเป็นจำนวนมาก หากรับประทานทุกวันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการออกกำลังกาย ก็จะเกิดการสะสมไขมันตรงตับในรูปของไกลโคเจน ส่งผลทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในที่สุด