“ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย”


    ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) เป็นระบบที่สัมพันธ์กับความเจ็บป่วยของมนุษย์ มีการทำงานที่ซับซ้อนเกี่ยวเนื่องกับสารเคมีและเซลล์หลายชนิด เพื่อป้องกันและต่อต้านอันตรายจากสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย กล่าวได้ว่าเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ที่ตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม หรือ เชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย โดยมีหน้าที่ “ตรวจสอบสิ่งแปลกปลอม” และ “สร้างกลไกเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม เพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติ โดยทั่วไปแล้วร่างกายมีโอกาสได้รับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ปรสิต จากการสัมผัส การกิน หรือการหายใจ ซึ่งส่งผลให้บางคนเจ็บป่วย แต่บางคนไม่มีอาการ นั่นเป็นเพราะประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน 
    ในระบบภูมิคุ้มกันมี “เซลล์เม็ดเลือดขาว” (White Blood Cell หรือ Leucocyte) ที่สำคัญไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคภายในร่างกายและช่วยกำจัดสารพิษ ของเสีย หรือเซลล์ที่ผิดปกติ โดยหน้าที่หลักคือ ป้องกันและทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ กำจัดเซลล์ที่เสื่อมสภาพออกจากระบบของร่างกาย เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีอายุมาก รวมทั้งจับตาดูเซลล์ที่แปรสภาพผิดไปจากปกติ เช่น เซลล์ที่กำลังเติบโตไปเป็นเซลล์มะเร็ง เป็นต้น เมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดอันตราย ร่างกายจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ตอบสนอง โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมี 2 ประเภท
    1. ระบบภูมิคุ้มกันที่ได้รับมาแต่กำเนิด (Innate Immunity) 
           ภูมิคุ้มกันแบบธรรมชาติ หรือภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate Immunity) เป็นระบบภูมิคุ้มกันที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด เป็น “ด่านแรก” ของการกำจัดสิ่งแปลกปลอม ซึ่งมีลักษณะการทำลายสิ่งแปลกปลอมอย่าง         ไม่จำเพาะ และเฉพาะในบริเวณที่เกิดความเสียหายขึ้นเท่านั้น โดยไม่มีการจดจำชนิดของแอนติเจน (antigen) ที่เข้าสู่ร่างกาย การกำจัดสิ่งแปลกปลอมของระบบภูมิคุ้มกันที่ได้รับมาแต่กำเนิด (Innate immunity) มีดังนี้ 
           1.1 สิ่งที่ห้อหุ้มร่างกาย หรืออวัยวะต่าง ๆ และสารเคมีในร่างกาย
             เป็นการป้องกันเชื้อโรคครั้งแรกของร่างกายเมื่อเชื้อโรคเกิดการปะทะกับร่างกาย เช่น ผิวหนัง, เยื่อบุผิว, ขน หรือในรูปแบบของสารเคมี เช่น น้ำตาที่มี Lysosome, น้ำลายที่มี enzyme และน้ำย่อยภายในกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เป็นต้น
           1.2 ระบบการอักเสบ (Inflammatory system) 
             เป็นระบบที่เชื้อเชิญให้ “กลุ่มเซลล์กลืนกิน” เข้ามาในบริเวณที่ถูกทำลาย เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม รวมไปถึงเศษซากจากการโดนทำลาย เพื่อเตรียมการในการรักษาตามธรรมชาติของร่างกายต่อไปได้ กระบวนการของการเกิดการอักเสบนั้น คือ เมื่อเนื่อเยื่อถูกทำลายจะมีการกระตุ้นให้มีการหลั่งสาร Histamine จาก Mast Cell เพื่อขยายหลาอดเลือดแดง และเพิ่มความสามารถในการซึมผ่านชั้นผิวของเส้นเลือดฝอย ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านหลอดเลือดแดงเพื่อที่จะนำสารในตัวเลือดมาซ่อมแซม และของเหลวที่สามารถซึมผ่านหลอดเลือดฝอยได้ง่ายขึ้น ซึ่งทำให้บริเวณที่ถูกทำลายนั้นมีเซลล์ที่กลืนกินเชื้อโรคมากขึ้น หากพบว่าบริเวณดังกล่าว มีความแดงบวมเจ็บ และเหมือนร้อนกว่าบริเวณอื่น นั่นก็เป็นเพราะร่างกายของคุณกำลังต้อสู้กับเชื้อโรคและพยายามซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณนั้นอยู่นั่นเอง 
             หมายเหตุ “เซลล์กลืนกิน” หรือ “เซลล์เม็ดเลือดขาวกลุ่มฟาโกไซต์” เช่น macrophage, monocyte, eosinophil และ neutrophil สามารถเข้ามากําจัดและทําลายเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็วด้วยกระบวนการฟาโกไซโทซิส (Phagocytosis) 
        1.3 Interferon
             เป็นสารสำคัญในการกระตุ้นเซลล์หรือสารเคมี ที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย รวมไปถึง การสะกัดกั้นไวรัสโดยไม่ให้ไวรัสมีการแบ่งตัวมากไปกว่านั้น อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการผลิตแอนติบอดี้ (antibody) ในร่างกาย และชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย 
        1.4 ระบบคอมพลีเมนท์ (Complement System)
             ระบบคอมพลีเมนท์ คือ กลุ่มของโปรตีนประมาณ 30 ชนิด มีคุณสมบัติเป็น proenzyme เมื่อได้รับการกระตุ้นจะเกิดเป็น active enzyme ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาอย่างต่อเนื่องคือ กระตุ้นให้เกิดการจับกลืนกิน (Phagocytosis) ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และการอักเสบของเนื้อเยื่อ (inflammation)
        1.5 NK Cell (Natural Killer Cell)
              NK Cell (Natural Killer Cell) เซลล์นี้ตรวจจับและเลือกทำลายเซลล์มะเร็งและเซลล์ที่มีไวรัสแฝงตัว ซึ่งมีหน้าตาคล้ายลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) หรือเม็ดเลือดขาว หน้าที่ของเซลล์นี้คือ ปล่อยไซโตไคน์ (Cytokines) นั่นคือ Proforins เพื่อไปทำลายเซลล์ทุกชนิดที่มีไวรัสแฝงตัวอยู่ อีกทั้งยังทำลาย “เซลล์มะเร็ง” อีกด้วย โดยการทำลายผนังเซลล์นั้น ๆ ให้สลาย เมื่อไม่มีผนังบ้าน เซลล์ที่ติดเชื้อเหล่านั้นก็จะตายเหลือแต่เซลล์ปกติ เซลล์นี้จึงได้รับการขนานนามว่า “เซลล์นักฆ่าตามธรรมชาติ” 
             มีการศึกษาพบว่าจำนวนเม็ดเลือดขาว NK Cell จะลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยที่ทำให้ความสามารถของ NK cell อ่อนแอลง เช่น คุณภาพในการนอนไม่ดี หรือนอนน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน การ     ไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือมีภาวะโรคอ้วน (Obesity disease) ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานน้ำตาลหรือไขมันสูง และรับประทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ อันส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เนื่องจากร่างกายไม่มีแร่ธาตุและวิตามินที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงมากพอ ความเครียดสะสม เพราะเมื่อในร่างกายมีความเครียดสูงขึ้น ฮอร์โมนความเครียด Cortisol จะไปกดภูมิคุ้มกันให้อ่อนแอลงจนร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น
    ระบบภูมิคุ้มกันชนิดนี้ทำหน้าที่เพียงแค่ด่านแรกเท่านั้น ไม่เฉพาะเจาะจง และเป็นเพียงระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น หากจะพูดถึงระบบที่ซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงต่อชนิดเชื้อโรคนั้น   จะเข้าสู่ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (Adaptive Immunity) ต่อไป

    2. ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (Adaptive or Acquired Immunity)
        เป็นระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานต่อจาก ระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (innate immunity) เกิดขึ้นจากการที่ “ร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอม” แล้วการป้องกันด่านแรกไม่สามารดกีดกันเชื้อโรคได้ หรือ “การกระตุ้นจากวัคซีนต่าง ๆ” ร่างกายจึง “ตอบสนองต่อเชื้อโรคอย่างจำเพาะเจาะจง” ผ่านเม็ดเลือดขาว ลิมโฟไซต์ (lymphocytes) ประกอบไปด้วย T และ B lymphocyte เป็นเซลล์ที่มีบทบาทสำคัญใน adaptive immune โดยภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ แบ่งวิธีการตอบสนองออกเป็น 2 ระบบคือ 
        2.1 การตอบสนองทางสารน้ำ (humoral immune response: HIR) 
             การตอบสนองทางสารน้ำที่เรียกว่า แอนติบอดี (antibody) ในลิมโฟไซต์ชนิดบี (B-Lymphocyte) หรือเม็ดเลือดขาวชนิด B-Cell โดยถูกกระตุ้นจากแอนติเจน (antigen) ของเชื้อโรคนั้น ทำให้ B cell กลายสภาพไปเป็นเซลล์พลาสมา (Plasma cell) จากนั้นจะปล่อยแอนติบอดีไปในเลือดเพื่อ “จับกับเชื้อโรคประเภทแบคทีเรีย และสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่ล่องลอยอยู่นอกเซลล์” และนอกจากนี้ B cell ยังสามารถจดจำแบคทีเรียชนิดที่เคยเข้ามาอยู่ในร่างกายได้ ด้วยการสร้างแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อนั้น ๆ เมื่อเชื้อโรคชนิดนั้นเข้ามาในร่างกายอีกครั้ง พวกมันก็จะสามารถจดจำได้ และสร้างแอนติบอดีนั้นได้เร็วมากขึ้น
        2.2 การตอบสนองชนิดพึ่งเซลล์ (cell-mediated immune response: CMIR) 
             การตอบสนองชนิดพึ่งเซลล์ อาศัยเม็ดเลือดขาวชนิด T cell ซึ่งแบ่งประเภทเป็น Helper T cell (CD4+)  และ Cytotoxic T cell (CD8+) หรือเรียกว่า Killer T Cell โดยแต่ละชนิดนี้มีหน้าที่ต่างกันดังนี้
             Helper T cell ถือว่า เป็น “ตัวช่วย” ที่สำคัญในระบบนี้ เนื่องจากช่วยได้ทั้ง กระตุ้น B cell ในการตอบสนองทางน้ำ และกระตุ้น Cytotoxic T cell ในการตอบสนองแบบพึ่งเซลล์ 
             Cytotoxic T cell เป็นตัวหลักในการกำจัดผ่านการกระตุ้นจาก Helper T cell โดยหลัก ๆ จะ “กำจัดได้ทั้งแบคทีเรียที่อยู่ภายในเซลล์ รวมไปถึงไวรัส และมะเร็งในระบบร่างกาย” อีกด้วย

    ระบบภูมิคุ้มกัน 2 ระบบทำงานร่วมกันอย่างไรบ้าง?
    ปกติแล้วเมื่อ T cell ได้รับสัญญาณการกระตุ้นจากการที่เซลล์จำพวก Antigen- presenting cell ได้แก่ Macrophage และ Dendritic cells นำเสนอ Antigen ของเชื้อโรคที่กินเข้าไปบนพื้นผิวของมัน และเมื่อ Helper T cell รับรู้ผ่านการตรวจจับที่จำเพาะ ก็จะทำงานดังนี้
    1. หลั่ง Interferon gamma เพื่อกระตุ้น Macrophage ให้ทำลายเชื้อโรคที่อยู่ภายในเซลล์นั้น 
    2. หลั่ง Tumor necrosis factor (TNF) ที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อโรคและเซลล์มะเร็ง
    3. หลั่ง Interleukin ชนิดต่าง ๆ ที่มีความสามารถในการกระตุ้น Cytotoxic T cell และ Antibody (IgE, IgA) เป็นต้น 
       เมื่อ Cytotoxic T cell ได้รับการกระตุ้นจาก Helper T cell ก็จะทำหน้าที่ในการกำจัดเซลล์มะเร็ง แบคทีเรียและไวรัส ตลอดจนเพิ่มความสามารถของเซลล์ Natural killer cells (NK cells) ในระบบภูมิคุ้มกันที่ได้รับมาแต่กำเนิด ขณะเดียวกันนี้ก็กระตุ้นให้ B cell เปลี่ยนกลายเป็น Plasma cell เพื่อช่วยกำจัดแบคทีเรียที่แฝงตัวในเซลล์ และจดจำการเข้ามาของแบคทีเรียชนิดนั้น ๆ ไว้ เพื่อหากในอนาคตแบคทีเรียดังกล่าวเข้ามา ร่างกายของเราจะสามารถสร้างแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อโรคนั้นได้ว่องไวมากยิ่งขึ้น
    ในร่างกายของมนุษย์ระบบภูมิคุ้มกันทั้ง 2 ระบบต่างทำงานประสานกัน ผ่านทางเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ในกระแสเลือดและน้ำเหลือง รวมถึงในเนื้อเยื่อและอวัยวะสำคัญของร่างกาย ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดี จึงควรใส่ใจในเรื่องระบบภูมิคุ้มกันให้มากขึ้นด้วยหลักการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันง่าย ๆ มีดังนี้ 
    1. การพักผ่อนให้เพียงพอ ครบ 8-9 ชั่วโมงต่อวัน เพราะการนอนหลับที่ดีช่วยให้ร่างกายสร้างสารที่ชื่อว่า ไซโตไคน์ (Cytokines) ที่ช่วยรักษาการอักเสบ การติดเชื้อ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หากต้องการเพิ่มคุณภาพการนอนให้ดีขึ้นก็สามารถใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 
    2. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการเพิ่มการหมุนเวียนของเลือดโดยรวม และทำให้เซลล์ในร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น เม็ดเลือดขาวแข็งแรงและเพิ่มจำนวนได้ อีกทั้งทำให้สมองสร้าง Growth Hormone ซึ่งเป็นตัวส่งเสริมการสร้างเม็ดเลือดขาวบางชนิดที่ช่วยต่อต้านเชื้อไวรัสและสิ่งแปลกปลอมได้
    3. การละวางความเครียด ทำจิตใจให้ผ่องใส เนื่องจากฮอร์โมนความเครียดบางชนิดที่มาจากความเครียดสะสม จะกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโรคต่าง ๆ ได้น้อยลง
    4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
    5. การรับประทานผักสดและผลไม้สดเป็นอาหารหลัก การไม่รับประทานน้ำตาล การลดการรับประทานคาร์โบไฮเดรต รวมทั้งงดรับประทานไขมันทรานส์ และอาหารผ่านการแปรรูป เช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก แหนม
    6. การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เสริมสร้างภูมิต้านทาน สำหรับผู้ที่กังวลว่าได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือต้องการเสริมภูมิต้านทาน เช่น
       6.1 วิตามินซีสกัดธรรมชาติ มักอุดมด้วยวิตามินซี ไบโอฟลาโวนอยด์และสารพฤกษเคมี ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาวและกระบวนการทำลายเชื้อโรค โดยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
       6.2 วิตามินดี มีบทบาทกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาว macrophage และ monocyte ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สำคัญในการช่วยลดการอักเสบ กําจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมได้อย่างรวดเร็วด้วยกระบวนการฟาโกไซโทซิส (Phagocytosis)
       6.3 วิตามินเอ ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว เพิ่มความแข็งแรงของเม็ดเลือดขาว ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันโดยรวมของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       6.4 วิตามินบี 6 มีส่วนอย่างมากในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแบบจำเพาะ (Adaptive Immune System) โดยส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนของลิมโฟไซต์ ทั้งในส่วนของ T-cell และ B-cell ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งในการป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมทั้งหลาย
       6.5 วิตามินบี 1 หรือไทอามิน (thiamin) บางครั้งจะถูกเรียกว่าเป็น “anti-stress”  หรือวิตามินลดภาวะเครียด เนื่องจากมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ทั้งยังมีส่วนเพิ่มความสามารถในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมที่อาจเข้ามาทำร้ายร่างกาย
       6.6 กรดไขมันโอเมกา 3 ช่วยเสริมสร้างการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ลดการอักเสบที่เกิดจากความเครียด และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกัน 
       6.7 ธาตุเหล็ก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานปกติ ดูดซึมได้ดีเมื่อรับประทานควบคู่กับวิตามินซี
       6.8 สารสกัดจากเห็ดต่าง ๆ จะมีสารสำคัญมากมาย อาทิ โพลิแซคาไรด์ โดยเฉพาะสารเบต้ากลูแคนกระตุ้นการสร้างอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) ในร่างกาย ซึ่งเป็นโปรตีนธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับไวรัส และสามารถกระตุ้นการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน Natural killer cell (NK CELL) ให้ทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรคและเซลล์มะเร็งอีกด้วย
       6.9 สารสกัดจากโสม (Ginseng Extract) มีสารอแดปโตเจน (Adaptogens) ช่วยให้เซลล์ทั่วร่างกายสร้างพลังงานเพิ่มขึ้น เป็นผลในการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และสร้างโปรตีน Interlenkin-1 เป็นผลทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสและเซลล์มะเร็งได้ดี นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า อีกทั้งมีจินเซ็นโนไซด์ในกลุ่มโครงสร้าง Protopanaxatriol (PPT) ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดMacrophage รวมทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Natural killer cell, dendritic cell และเซลล์เม็ดเลือดขาวขนาดเล็กทั้ง B-cell และ T-cell 
       6.10 ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านการอักเสบ โดยสารเคอร์คูมินที่อยู่ภายในขมิ้นชันช่วยเพิ่มปริมาณและกระตุ้นการทำงานของที-เซลล์ จึงช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน 

    ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมามอบสิ่งที่ดีให้กับชีวิต ด้วยการสร้างเกราะป้องกันให้กับระบบภูมิคุ้มกัน เพราะเมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานมีประสิทธิภาพ ก็พร้อมที่จะปกป้องร่างกายจากการรุกรานของเชื้อโรคอันนำมาซึ่งโรคต่าง ๆ รวมทั้งโรคมะเร็ง พร้อมกันนี้ร่างกายก็จะกลับมาแข็งแรงได้อีกด้วย 


 
 

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.